อายุที่แท้จริงคืออะไร? บอกได้ด้วยเทโลเมียร์

อายุปฏิทิน กับ อายุร่างกาย สิ่งไหนคืออายุจริงของคุณ?

เคยสงสัยหรือไม่ว่า คนที่อายุเท่ากันแต่ทำไมหน้าตาและผิวพรรณถึงต่างวัยกัน บางคนโดนทักเสมอว่า ทำไมหน้าเด็กจังเลย ส่วนบางคนกลับโดนทักว่าแก่กว่าวัยอยู่เสมอ แน่นอนว่านั่นย่อมทำให้รู้สึกแย่ไม่น้อย เพราะคงไม่มีใครที่อยากแก่กว่าวัย

แล้วสาเหตุเกิดจากอะไร ทำไมร่างกายถึงไม่เดินไปพร้อมกับอายุ...

นั่นเป็นเพราะคนเรามี 2 อายุ คือ อายุตามปฏิทิน (Calendar Age) ที่นับจากวัน เดือน ปี ที่เราเกิด และอายุร่างกาย (Body Age หรือ Biological Age) ซึ่งไม่สามารถนับจากปฏิทินได้เพราะสิ่งที่บ่งบอกอายุร่างกายได้ คือสุขภาพของเราเอง คนที่มีสุขภาพดี ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ดูแลรักษาร่างกายเป็นอย่างดีอยู่เป็นประจำ มักจะมีอายุร่างกายที่น้อยกว่าหรือเท่ากับอายุตามปฏิทิน ส่วนคนที่ไม่ค่อยดูแลตัวเอง มีความเครียด รับประทานแต่อาหารที่ไม่มีประโยชน์ หรือสิ่งใดก็ตามที่ทำให้ร่างกายเสื่อมสมรรถภาพไวกว่าที่ควร ก็จะทำให้อายุร่างกายมากตามไปด้วย ดังนั้นในคนที่อายุเท่ากัน แต่ใช้ชีวิตและดูแลสุขภาพไม่เหมือนกัน อายุร่างกายก็จะแตกต่างกัน

อายุร่างกายเท่าไหร่ ให้ใครวัด?

คุณอายุเท่าไหร่? คงเป็นคำถามที่ตอบได้ไม่ยาก แล้วถ้ามีคนถามว่า อายุร่างกายของคุณเท่าไหร่? หลายคนอาจถึงขั้นกุมขมับเลยทีเดียว

แต่อย่าเพิ่งกังวลว่าจะเป็นเรื่องยากในการหาคำตอบ ถึงแม้เราจะนับเองไม่ได้ แต่ในปัจจุบันมีเครื่องมือที่สามารถบอกอายุของร่างกายเราได้อย่างแม่นยำ นั่นคือ การวัดความยาวเทโลเมียร์ (Telomere Length)

Telomere กุญแจแห่งความลับของอายุที่ยืนยาว

ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตจะมีโครโมโซมหรือสารพันธุกรรมอยู่ในเซลล์ทุกๆเซลล์ของร่างกาย มีรูปร่างลักษณะคล้าย ปาท่องโก๋ ภายในประกอบด้วยหน่วยพันธุกรรม คือ ดีเอ็นเอและยีนจำนวนมาก ทำหน้าที่ในการกำหนดลักษณะของร่างกายมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตต่างๆ เช่น สีผม สีตา เพศ สีผิว รวมถึงควบคุมการทำงานทุกส่วนของร่างกาย โดยคนปกติจะมีโครโมโซมทั้งหมด 23 คู่ หรือ 46 แท่ง ซึ่งในโครโมโซมแต่ละแท่งจะมีส่วนปลายที่เรียกว่า เทโลเมียร์ อยู่ทั้งสองข้างเปรียบได้กับปลอกพลาสติกที่หุ้มปลายเชือกผูกรองเท้าเพื่อป้องกันไม่ให้เชือกรองเท้าลุ่ย

ทุกครั้งที่เกิดการแบ่งเซลล์ในร่างกาย เทโลเมียร์ จะหดสั้นลงเรื่อยๆจนกระทั่งหมด เมื่อถึงจุดนั้นหมายความว่า โครโมโซมจะค่อยๆถูกทำลาย เพราะไม่มีส่วนที่ช่วยปกป้องอยู่แล้ว ส่งผลให้เซลล์เริ่มเสื่อมสภาพ ซึ่งส่วนของเทโลเมียร์ที่หดสั้นลงนี้ สามารถนำมาวิเคราะห์ค่าความเสื่อมของเซลล์ หรืออายุขัยของเซลล์ได้

คุณกำลังทำให้เทโลเมียร์หดสั้นลงเร็วกว่าปกติหรือเปล่า?

โดยปกติแล้ว เทโลเมียร์ จะหดสั้นลงตามกระบวนการแบ่งเซลล์ของร่างกายตามธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งเซลล์เพื่อเพิ่มจำนวนในการเจริญเติบโตของร่างกาย แบ่งเซลล์เพื่อทดแทนเซลล์ที่ตายไป หรือแบ่งเซลล์สืบพันธุ์ก็ตาม แต่ก็มีปัจจัยที่ทำให้ เทโลเมียร์ หดสั้นลงเร็วกว่าปกติ ดังนี้

กรรมพันธุ์

กรรมพันธุ์ถือเป็นปัจจัยในการบ่งชี้ความสั้นยาวและความเร็วในการหดสั้นของเทโลเมียร์ได้ ดังนั้น ความยาวของ
เทโลเมียร์ ในแต่ละคนจึงแตกต่างกันไป ซึ่งมีการศึกษาพบว่า คนที่มีเทโลเมียร์ยาวย่อมมีแนวโน้มที่จะมีอายุยืนยาวกว่า แน่นอนว่าคนที่มีเทโลเมียร์ยาวตั้งแต่เกิดจึงถือว่าโชคดี แต่พวกเขาจะรักษามันไว้ได้นานแค่ไหนทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ด้วย

อาหาร สภาพแวดล้อม และพฤติกรรมการใช้ชีวิต

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้วว่าเซลล์ในร่างกายมีการแบ่งตัวเพื่อจุดประสงค์แตกต่างกันและหนึ่งในนั้นก็คือ การแบ่งเซลล์เพื่อทดแทนเซลล์ที่ตายไปหรือเสื่อมไป ซึ่งโดยปกติร่างกายของคนเราจะมีการตายและเกิดใหม่ของเซลล์อยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะเมื่ออายุมากขึ้นร่างกายเริ่มเสื่อมสมรรถภาพ ก็จะต้องมีการสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาซ่อมแซม ซึ่งภาวะเสื่อมสภาพของเซลล์นี้ก็แตกต่างไปในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็น การกิน การนอน หรือสภาพแวดล้อมรอบตัว ถ้าเราดูแลสุขภาพดีออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ก็จะทำให้เซลล์เสื่อมช้า

แต่ถ้าเลือกรับประทานแต่อาหารที่เป็นโทษต่อร่างกาย ปนเปื้อนสารพิษ อาหารรสจัด อาหารที่มีไขมันสูงเป็นจำนวนมาก ก็จะส่งผลให้เกิดภาวะการอักเสบเรื้อรังภายในร่างกาย หรือเกิดอนุมูลอิสระ ซึ่งมีผลต่อการทำลายเซลล์โดยตรงนอกจากนี้การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดความเครียดสะสม หรือไม่ออกกำลังกาย สูบบุหรี่จัด ดื่มแอลกอฮอล์หนัก ล้วนส่งผลให้เกิดภาวะการอักเสบเรื้อรังภายในร่างกายและเกิดอนุมูลอิสระได้ง่ายส่งผลให้เซลล์เสื่อมสภาพอย่างรวดเร็ว ทำให้ร่างกายต้องสร้างเซลล์ใหม่และเมื่อมีการสร้างเซลล์หรือแบ่งเซลล์เป็นจำนวนมาก ก็จะทำให้เทโลเมียร์ หดสั้นเร็วขึ้นนั่นเอง

รู้ความยาวเทโลเมียร์ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไรต่อชีวิต?

  • มีรายงานพบว่า อัตราการหดสั้นลงของ เทโลเมียร์ นั้น นอกจากจะส่งผลต่อการเสื่อมสภาพของเซลล์แล้ว ยังมีส่วนสัมพันธ์กับการเกิดโรคร้ายหลายชนิด ยกตัวอย่างเช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเกี่ยวกับระบบประสาท รวมถึงโรคมะเร็งหลายชนิด ดังนั้นการทราบว่า เทโลเมียร์ ในร่างกายของคุณมีความสั้นหรือยาวแค่ไหนช่วยให้สามารถวางแผนป้องกันและดูแลสุขภาพได้อย่างถูกต้องมากขึ้น
  • การทราบความยาวของ เทโลเมียร์ ทำให้ทราบถึงข้อมูลภายในร่างกายของตัวเอง ทราบถึงความเสื่อมสภาพของเซลล์ ว่าไปถึงขั้นไหนแล้วและยังบ่งบอกถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ผ่านมาได้ว่าเราดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเองได้ดีหรือไม่ ดีแค่ไหน เพื่อปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตได้ทันก่อนที่จะสายไป
  • เนื่องจาก เทโลเมียร์ เป็นสิ่งสำคัญในการกำหนดความสั้นยาวของอายุด้วย ดังนั้นข้อมูลนี้จึงสำคัญสำหรับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ชะลอวัยหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ ในการนำไปต่อยอดปรับแผนการรักษา วินิจฉัยโรค ป้องกันการเกิดโรค หรือเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการใช้ชีวิตได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น

เทโลเมียร์ ในร่างกายของเรายาวเท่าไหร่? รู้ได้ไม่ยาก

ในปัจจุบันมีหลายวิธีที่ใช้วัดความยาวของเทโลเมียร์ได้ ซึ่งมีวิธีที่แตกต่างกันออกไป แต่มีเทคโนโลยีหนึ่งที่ทำให้สามารถทราบความยาวของเทโลเมียร์ได้ง่ายและสะดวกขึ้น คือ เทคโนโลยีที่มีชื่อว่า Quantitative PCR (qPCR) โดยใช้เวลาเพียง 3 วันเท่านั้น เราก็จะทราบความยาวของเทโลเมียร์ได้รวมถึงรู้ว่าความยาวนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่สูงหรือต่ำกว่าปกติ หากผลปรากฏว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำก็สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อป้องกันการหดสั้นเร็วกว่าปกติของเทโลเมียร์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้ ซึ่งโดยปกติแล้วใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน

ควรตรวจความยาวเทโลเมียร์บ่อยแค่ไหน

โดยปกติเราสามารถติดตามผลความยาวของเทโลเมียร์ได้ทุกปี แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การใช้ชีวิตจากเดิมโดยเฉพาะการใช้ชีวิตแบบมีแนวโน้มที่จะทำลายสุขภาพ ก็สามารถตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงได้ทุก 6 เดือน เพื่อจะได้รู้ตัวและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ทัน

“ถ้าเราไม่ดูแลสุขภาพตัวเอง ใช้ชีวิตอย่างหนักหน่วงเกินไป อายุร่างกายก็จะแซงหน้าอายุตามปฏิทินไปไกลจนเราไม่คาดคิดเลยทีเดียว”

หากสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทโลเมียร์ สามารถติดต่อเราได้ที่นี่


Leave a comment!

Your email address will not be published. Required fields are marked *